การเลือกใช้อุปกรณ์ช่วยในการขนถ่ายวัสดุ
ผู้ประกอบการบางรายอาจไม่เห็นถึงความสำคัญของการเลือกใช้อุปกรณ์การขนถ่ายวัสดุที่เหมาะสม เนื่องจากอาจเห็นว่าการลงทุนในอุปกรณ์การขนถ่ายวัสดุนั้นไม่ได้ช่วยเพิ่มค่า (Add value) แก่ผลิตภัณฑ์ หากในความเป็นจริงแล้วการเลือกใช้อุปกรณ์การขนถ่ายวัสดุที่เหมาะสมจะช่วยให้เกิดประโยชน์มากมาย เช่น เพิ่มความคล่องตัวและทำให้เกิดความต่อเนื่องในการผลิต ช่วยลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อวัสดุในระหว่างขนถ่าย เป็นต้น ซึ่งทั้งนี้ จะมีผลกระทบไปสู่คุณภาพของผลิตภัณฑ์ และนำไปสู่การลดต้นทุนในการผลิตและผลกำไรโดยรวม
อุปกรณ์ประเภท Material handling นั้น พูดง่ายๆ ก็คืออุปกรณ์ที่ใช้ช่วยในการเคลื่อนย้าย หรือขนถ่ายวัสดุ (ในที่นี้จะพิจารณาเฉพาะวัสดุประเภทของแข็งเท่านั้น) ที่เป็นนิยมใช้โดยทั่วไปนั้น สามารถจำแนกคร่าวๆ ได้ 7 ประเภท และแต่ละประเภทมีความเหมาะสมกับการเคลื่อนย้ายที่แตกต่างกัน
เลือกอย่างไรให้เหมาะสมกับการใช้งาน
1. Conveyor อุปกรณ์ประเภทนี้มีอยู่หลายรูปแบบ เช่น รางส่ง ลูกกลิ้ง โซ่ส่ง สายพาน ฯลฯ ลักษณะของการใช้งานเพื่อให้มีการเคลื่อนย้ายอย่างต่อเนื่องในเส้นทางที่ไม่เปลี่ยนแปลง (แต่อาจมีการเปลี่ยนทิศทางได้) โดยปกติมักใช้ในงานที่มีการเคลื่อนย้ายบ่อยๆ แต่ระยะในการเคลื่อนย้ายไม่ไกลจนเกินไป ทั้งนี้เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง และค่าอุปกรณ์ ประเภท conveyor จะขึ้นกับชนิด และความยาวของระยะทางด้วย สำหรับการติดตั้งอุปกรณ์ conveyor จะมีทั้งแบบติดเพดาน (เหมาะกับการย้ายชิ้นส่วนขนาดใหญ่) แบบติดตั้งบนพื้น (เช่น ใช้ขนย้ายกล่อง หรือตู้คอนเทนเนอร์) การเคลื่อนย้ายอาจอาศัยแรงโน้มถ่วง หรือเป็นแบบที่ใช้พลังงานขับเคลื่อน (เช่น มอเตอร์)
2. Industrial Vehicles อุปกรณ์ประเภทนี้ มีทั้งที่แบบลากจูง ใช้แรงดัน หรือขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ เช่น รถเข็น รถลากจูงแบบมีขบวนพ่วง รถยกปากส้อม ฯลฯ อุปกรณ์ประเภทนี้สามารถใช้เคลื่อนย้ายทั้งแบบหนึ่งจุดเริ่มต้น-หนึ่งจุดหมาย (single load) หรือหลายจุดเริ่มต้น-หลายจุดหมาย (multiple loads) การเคลื่อนย้ายแบบ single load หมายถึง การขนย้ายแต่ละครั้งมีจุดเริ่มต้น และที่หมายเพียงอย่างละจุดเท่านั้น อุปกรณ์ที่ใช้อาจเป็นรถเข็น หรือรถยกปากส้อม ส่วนแบบที่เป็น multiple load นั้น อาจมีหลายจุดเริ่มต้น และหลายจุดหมายในแต่ละครั้งของการขนย้าย เช่น อาจมีการหยิบของจากหลายๆ จุด ไปส่งยังหลายๆ ที่ โดยอุปกรณ์ในการขนย้ายได้แก่ รถลากจูงแบบมีพ่วง (ลักษณะคล้ายรถไฟ ที่มีหลายตู้ขบวนติดๆกัน) หรือรถเข็น (เช่น ใช้ในลักษณะงานเหมือนการเลือกของในซูเปอร์มาเก็ต) อุปกรณ์ประเภท Industrial Vehicles เหมาะกับการใช้ขนย้ายแบบที่สามารถเปลี่ยนแปลงเส้นทางได้ ทั้งนี้ ในการเลือกใช้อุปกรณ์ประเภทนี้ต้องคำนึงถึงความกว้างของช่องทางด้วย
3. Automated storage/retrieval systems (AS/RS) อุปกรณ์ประเภทนี้มักใช้ในการขนย้ายวัสดุ โดยการนำวัสดุไปเก็บ (store) และนำวัสดุออกมา (retrieve) แบบอัตโนมัติ จากที่จัดเก็บประเภทหิ้งจัดเก็บ (storage rack) โดยมีตำแหน่ง/บริเวณที่เครื่อง AS/RS มารับวัสดุไปจัดเก็บ (pickup station) และจุดที่นำวัสดุจากหิ้งจัดเก็บไปส่งเมื่อวัสดุนั้นถูกเรียกใช้ (deposit station) อย่างชัดเจน อุปกรณ์แบบ AS/RS เหมาะกับงานที่ต้องการการจัดเก็บและเรียกใช้วัสดุหลากหลายแบบ ในหิ้งจัดเก็บที่หนาแน่นมากๆ การเลือกใช้อุปกรณ์แบบ AS/RS จะมีทั้งแบบใช้ AS/RS เครื่องเดียวต่อการจัดเก็บ 1 ช่องทาง (aisle) ใช้ AS/RS เครื่องเดียวต่อการจัดเก็บหลายช่องทาง หรือใช้ AS/RS หลายเครื่องในการจัดเก็บ 1 ช่องทาง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของพื้นที่จัดเก็บ ความถี่ในการจัดเก็บและเรียกใช้วัสดุ โดยทั่วไปแล้วปัจจัยที่มีผลต่อความสามารถในการจัดเก็บและเรียกใช้ของอุปกรณ์แบบ AS/RS จะพิจารณาจากลักษณะโครงสร้างของหิ้งที่ใช้จัดเก็บ ความเร็วในการเคลื่อนของอุปกรณ์ AS/RS ทั้งในแนวดิ่งและแนวราบ
4. Carousels อุปกรณ์ประเภทนี้มีลักษณะการเคลื่อนคล้ายกับประเภท Conveyor คือ เคลื่อนไปเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง เพียงแต่อุปกรณ์ประเภทนี้จะหมุนวนรอบ เช่น การเคลื่อนย้ายที่มีหิ้งหรือชั้นเก็บของไปตามสายพานเป็นรอบ ลักษณะการเคลื่อนมีทั้งแบบหมุนวนในแนวราบและในแนวดิ่ง อุปกรณ์ประเภทนี้ถูกนำมาใช้ในการจัดวัสดุเป็นชุด หรือใช้แยกวัสดุ ลักษณะของอุปกรณ์ประเภทนี้คล้ายกับสายพานลำเลียงกระเป๋าเดินทางตามสนามบิน ที่วนไปเป็นรอบ
5. Automated guided vehicle systems (AGV) อุปกรณ์ประเภท AGV มีลักษณะคล้ายอุปกรณ์ประเภท Industrial Truck แตกต่างที่ AGV ถูกควบคุมโดยคอมพิวเตอร์ และถูกกำหนดเส้นทางการเดินทางที่ชัดเจน ไม่ต้องใช้คนขับ การเลือกใช้อุปกรณ์ประเภท AGV มักต้องลงทุนสูง ทั้งค่าคอมพิวเตอร์ที่ใช้ควบคุม การติดตั้งเส้นทางซึ่งอาจมีการฝังสายไว้ใต้พื้นตามเส้นทาง และตัวรถ AGV เอง การควบคุมอุปกรณ์ประเภท AGV สามารถควบคุมได้หลายๆ คันโดยใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมเพียงชุดเดียว และ AGV แต่ละคันสามารถสื่อสารถึงกันได้ เช่น เพื่อหลีกเลี่ยงการชนกันเอง หรือเพื่อป้องกันการกีดขวางการจราจร หากอีกคันยังอยู่ในจุดรับส่งวัสดุ
6. Cranes and hoists หรืออุปกรณ์ประเภทปั้นจั่นและลูกรอก อุปกรณ์ประเภทนี้จะมีความเหมาะสมกับลักษณะงานที่มีความจำกัดสำหรับพื้นที่ในแนวราบ การขนถ่ายกระทำเป็นครั้งคราวไม่จำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ และวัสดุที่ถูกขนถ่ายมีรูปร่างที่แตกต่างไม่แน่นอน ตัวอย่างการใช้งานของอุปกรณ์ประเภทปั้นจั่นและลูกรอกได้แก่ การขนย้ายชิ้นส่วนขนาดใหญ่ในโรงงานที่มีพื้นที่ในแนวราบที่จำกัดสามารถใช้ลูกรอกติดตั้งบนเพดานเพื่อการขนย้าย ในบางครั้งอุปกรณ์ประเภทนี้สามารถใช้ในการขนย้ายวัสดุที่มีน้ำหนักมาก เช่น แม่พิมพ์ขนาดใหญ่ รวมถึงการเคลื่อนย้ายเครื่องจักรในโรงงาน สำหรับตัวอย่างของอุปกรณ์ในประเภทนี้จะได้แก่ Overhead Traveling Crane, Gantry Crane, Jib Crane และ Hoist เป็นต้น
7.Robots หรือที่เรามักเรียกว่าหุ่นยนต์ อุปกรณ์ประเภทนี้อาจถูกตั้งโปรแกรมให้ทำงานได้หลายๆ แบบ เช่น ใช้เคลื่อนหรือหมุนวัสดุในการเชื่อมชิ้นส่วน การใช้หุ่นยนต์มักเป็นการเคลื่อนย้ายทีละชิ้นงานมากกว่าที่จะเป็นการเคลื่อนย้ายวัสดุจำนวนมาก อุปกรณ์ประเภทนี้มักต้องลงทุนสูง ซึ่งการใช้งานอาจต้องคำนึงถึงความจำเป็นต่างๆ ประกอบ เช่น ความปลอดภัย หรืองานที่ต้องการความแม่นยำสูง เป็นต้น
ข้อพิจารณาในการปรับใช้
การเลือกใช้อุปกรณ์ชนิดต่างๆ จักต้องดูปัจจัยหลายๆ อย่างประกอบกัน โดยต้องคำนึงถึงราคาและต้นทุน ชนิดของอุปกรณ์ ลักษณะ ขนาดและปริมาณของชิ้นงาน พื้นที่และผังโรงงาน ความบ่อยและความต่อเนื่องของการขนถ่าย รวมไปถึงความยืดหยุ่นของเส้นทางที่ใช้ในการลำเลียง จึงจะเหมาะสมและมีประสิทธิภาพที่สุด
คำไข เคล็ดลับ-วิธีการ / การขนถ่ายวัสดุ / Material Handling / การบริหารการผลิต
จัดทำโดย อ.สุรพงษ์ ศิริกุลวัฒนา
ที่มาของบทความ www.ismed.or.th/SME
วันอาทิตย์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2552
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)